โรคซึมเศร้า คืออะไร?
รู้จักกับ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากที่สุด
โรคซึมเศร้า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หรือในเด็กเองก็เกิดขึ้นได้ เมื่อดูจากภายนอกแล้ว อาการที่เห็นใกล้เคียงกับอาการเศร้าหรือเสียใจทั่วไป แต่ผลกระทบนั้นรุนแรงกว่ามาก ซึ่งทั้งตัวผู้ป่วยเองหรือคนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตเห็นด้วยซ้ำ ปัญหาส่วนใหญ่คนที่ป่วยเป็นซึมเศร้ามักจะไม่รู้ตัวเองว่าตนกำลังป่วยเป็นซึมเศร้า หรืออาจรู้ตัวอีกทีตอนที่โรคกำลังพัฒนาไปสู่ขั้นรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว ทำให้โรคนี้กลายเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่พรากหลายต่อหลายชีวิตไปอย่างคาดไม่ถึง
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้ถูกจัดประเภทว่าเป็นคนบ้าหรือคนไม่ดีแต่อย่างใด หากแต่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทางอารมณ์ที่ควรได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาในเร็ววันอาจส่งผลเสียถึงชีวิตอย่างหนักได้ โดยอาจจะมีพฤติกรรมคิดสั้นฆ่าตัวตาย ดังนั้น สาเหตุของการเกิดโรค อาการและวิธีรักษานับว่าจำเป็นยิ่งนักที่ทุกคนจะต้องให้ความใส่ใจตระหนักรู้ โดยคุณสามารถติดตามรายละเอียดดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาและการทำจิตบำบัดและผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ ระยะเวลาในการรักษาอาจใช้เวลานานตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน เป็นต้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการให้ความร่วมมือในการรักษาจากผู้ป่วยและญาติ
ทำความรู้จักโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและความคิด โดยอาการต่างๆ เหล่านี้จะคอยสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในประจำวันอย่างมาก เช่น รับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับชีวิต ในหัวสมองมักมีแต่ความวิตกกังวล ที่สำคัญผู้ป่วยไม่มีความสามารถในการประสานความคิดและความรู้สึกของตัวเองเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างดีพอ
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากที่สุด จากข้อมูล World Health Organization พบว่ามีประชากรทั่วโลกประสบกับโรคซึมเศร้าประมาณ 350 ล้านคน วัฒนธรรมที่แตกต่างกันมีผลต่ออัตราของภาวะซึมเศร้าที่แตกต่างกัน ความชุกของภาวะซึมเศร้าของทุกเพศทุกวัยในญี่ปุ่น จะอยู่ในระดับต่ำ (2.2 เปอร์เซ็นต์) และสูงถีง 10.4 เปอร์เซ็นต์ในบราซิล ตามรายงานประจำปี 2553 ของวารสารประจำปีด้านสาธารณสุข (the journal Annual Review of Public Health)
ในไทยเอง โรคซึมเศร้านั้นถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยที่มีความสำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยสังเกตได้จากสังคมในปัจจุบันนี้ที่มักมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตาย รวมทั้งปัญหาการทำร้ายร่างกายของตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็นับเป็นเรื่องที่น่าสลดใจไม่น้อยทีเดียว เพราะฉะนั้น ต้นตอสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยประสบปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว การงาน การเงินหรือพบเจอความล้มเหลวสูญเสียในชีวิตอย่างรุนแรง ทุกปัญหานั้นล้วนเป็นสาเหตุนำมาสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้หมดทั้งสิ้น
ตามรายงานจิตวิทยาคลินิก ปี 2007
- 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้า(Depression)ครั้งแรก มักมีภาวะซึมเศร้าซ้ำอีกหนึ่งครั้งหรือมากกว่า
- 80 เปอร์เซ็นต์ มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นถึงสองครั้ง
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีที่อยู่ในสมองที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) เมื่อสารเคมีดังกล่าวมีปริมาณน้อยลงจากเดิมก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและทางความคิด ซึ่งโดยรวมจะสังเกตเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะมีความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย เหงา ไม่มีชีวิตชีวา ไม่สนุกสนานกับชีวิตประจำวัน ระสับกระส่าย อยากอยู่คนเดีย นอนไม่หลับ มักสะดุ้งตื่นในกลางดึก ฝันร้ายบ่อย เหล่านี้ยังเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานที่ลดลง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้านั้นมาจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของกรรมพันธุ์ ด้านพัฒนาการของจิตใจ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยประสบกับความเครียดที่แสนหนัก เจอมรสุมชีวิตที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจนทำให้หมดกำลังใจ ตกงาน มีปัญหาเรื่องการเงินที่หาทางออกไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมทั้งพบเจอกับความสูญเสียในชีวิตที่ทำให้เสียใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพ่อแม่ในขณะที่ยังอยู่ในช่วงของวัยเด็ก สูญเสียคนรัก สูญเสียครอบครัว และยังรวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางชนิด ก็สามารถส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน รวมถึงการใช้สารเสพติดที่อาจทำให้สารเคมีในสมองผิดปกติ
โดยสรุปแล้วปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้เช่น
- ภาวะเจ็บป่วยที่สามารถทำให้เกิดการเสียชีวิต (เช่น โรคมะเร็งหรืออาการปวดเรื้อรัง)
- ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม
- ชีวิตที่เครียด (เช่นปัญหาการหย่าร้างหรือขัดสนเงินทอง)
- พันธุกรรม (มีความผิดปกติของอารมณ์และการฆ่าตัวตายของคนในครอบครัว)
- ภาวะบาดเจ็บหรือการถูกล่วงละเมิดในวัยเด็กซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวจากการสั่งการของสมองเพื่อจัดการกับความกลัวและความเครียด
- โครงสร้างสมองและการใช้สารเสพติด
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเช่นฮอร์โมนจากภาวะตั้งครรภ์หรือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
- ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า(Depression) มากกว่าผู้ชายถึง 70 เปอร์เซ็นต์
- คนที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปีมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า มากกว่าคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 60
ชนิดของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ซึ่งแต่ละชนิดมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปดังนี้
1. Major Depression (โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง)
โรคซึมเศร้าชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อภาวะซึมเศร้ารบกวนความสุขในชีวิต การทำงาน การเรียน
การนอนหลับ นิสัยการกิน และอารมณ์สุนทรีย์ ติดต่อกันอย่างน้อยสองสัปดาห์ บางคนอาจพบแค่เพียงหนึ่งอาการแสดงของภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะเกิดเป็นครั้งๆ แล้วหายไป แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดได้บ่อยครั้ง
2. Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (โรคซึมเศร้าเรื้อรัง)
เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่อยู่ในภาวะที่รุนแรง และสามารถเป็นแบบเรื้อรัง จะมีอาการแสดงของอารมณ์ไม่รุนแรงนัก แต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสองปี ในบางช่วงเวลาของภาวะซึมเศร้าประเภทนี้อาจมีภาวะ major depression ร่วมด้วย ซึ่งจะรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งนี้มันสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดการสูญเสียความสามารถในการทำงานและความรู้สึกที่ดีได้
3. Bipolar หรือ Manic-depressive Illness (โรคซึมเศร้าอารมณ์ตก)
ผู้มีภาวะซึมเศร้าบางคนอาจมีความผิดปกติแบบอารมณ์สองขั้วร่วมด้วย (bipolar disorder) เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นลักษณะที่มีอารมณ์แปรปรวนรุนแรงสลับไปมาระหว่างความคิดฟุ้งซ่านขาดสติ (Mania) และภาวะซึมเศร้า (Depression)
สำหรับบางคนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยส่วนมากจะค่อยเป็นค่อยไป เมื่อซึมเศร้าก็จะมีอาการมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการพูดมากกว่าที่เคยเป็น มีความกระฉับกระเฉงมากเกินกว่าเหตุ มีพลังงานในร่างกายที่เหลือเฟือ ในช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุนั้น จะมีผลกระทบต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ป่วย รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ป่วยอาจจะหลงผิด หากผู้ป่วยในภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคจิต
ประเภทของภาวะซึมเศร้าอื่นๆ ที่ได้การยอมรับทางการแพทย์ มีดังนี้
1. Postpartum Depression (โรคซึมเศร้าหลังคลอดบุตร)
มารดาหลังภาวะคลอดบุตรมักมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรงและใช้เวลากลับปกตินาน ภาวะซึมเศร้าที่คุณแม่มือใหม่มักเจอหลังคลอดจะเรียกว่าแบบ "baby blues"
2. Seasonal Affective Disorder หรือ SAD (โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล)
เป็นภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูหนาว (และบางครั้งก็เกิดภาวะใบไม้ร่วง) มักเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศที่มีแสงแดดน้อย
3. Premenstrual Dysphoric Disorder (โรคซึมเศร้าก่อนมีรอบเดือน)
ซึ่งเป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนและหลังช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิง
4. Psychotic Depression (โรคซึมเศร้าโรคจิต)
เป็นภาวะซึมเศร้ารุนแรงที่เกิดในผู้ป่วยโรคจิต(Depression) มักเกิดพร้อมอาการทางจิตเช่น เช่นเห็นภาพลวงตาและภาพหลอน
อาการของโรคซึมเศร้า
1. อาการทั่วไปของโรคซึมเศร้า
หากคุณกำลังกังวลว่าตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าอยู่ เบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากอาการเศร้า เสียใจ และท้อแท้จนไม่อยากทำอะไร บางครั้งก็เป็นไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ ถึงแม้มีเรื่องน่ายินดีก็กลับไม่รู้สึกมีความสุขเลย และนอกจากนี้ ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ามักแสดงอาการเหล่านี้ออกมาพร้อมๆกันภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์ หากปล่อยไว้นานจะทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังซึ่งมีอาการรุนแรงกว่านี้มาก ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการบำบัดสภาพร่างกายและจิตใจอย่างถูกต้องก่อนที่จะก่อให้เกิดความสูญเสีย
- รู้สึกหมดหวัง ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปหรือจะทำไปเพื่ออะไร
- ไม่มีความสุขกับสิ่งของหรือกิจกรรมที่ชอบ เช่น รู้สึกเบื่อหน่ายอาหารโปรดหรือการร่วมเพศ
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นเร็วมากอันเนื่องมาจากการรับประทานอาการที่ไม่เหมือนเดิม
- นอนไม่หลับมาเป็นระยะเวลานาน แต่ในผู้ป่วยบางรายก็นอนนานผิดปกติ
- มีอาการเครียด หงุดหงิดง่ายขึ้น ไม่รู้สึกผ่อนคลาย
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้เลย บางครั้งก็แสดงอาการหลงๆลืมๆ และใช้เวลานานในการตัดสินใจ
- มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้าลง รวมถึงการพูด เพราะรู้สึกว่าร่างกายอ่อนแรง
- รู้สึกอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย บางครั้งผู้ที่มีอาการนี้ก็ไม่รู้ตัวเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น บางที่ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าก็อาจจะแสดงออกด้วยวิธีที่แปลกออกไป จนในบางครั้งอาจไม่ได้ทำให้ผู้พบเห็นหรือเจ้าตัวคิดว่าตนเองนั้นเป็น “โรคซึมเศร้า” เรามาลองดูสัญญาณแปลก ๆ เหล่านั้นกัน
- การช้อปปิ้งอย่างบ้าคลั่ง: คุณเคยสังเกตตัวเองไหมว่า คุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้จ่ายโดยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ สำหรับใครที่เป็นโรคซึมเศร้า นั่นเป็นเรื่องปกติที่เขาจะซื้อของอย่างเสียสติ ไม่ว่าจะในห้างสรรพสินค้าหรือผ่านโลกออนไลน์ เพื่อหวังจะเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดหรือปลุกความมั่นใจของตนเอง แต่การรักษาความเครียดด้วยวิธีดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ เท่านั้น คุณจะมิได้ใช้จ่ายอย่างเสียสติเป็นเวลายาวนานติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมดังกล่าวนี้ ในบางรายอาจเป็นโรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพล่าก็เป็นได้
- การดื่มอย่างหนัก: หากคุณรู้สึกว่าคุณต้องการดื่มเพื่อจัดการกับความวิตกกังวลหรืออาการซึมเศร้าต่าง ๆ นั่นอาจบ่งบอกได้ว่า คุณเป็นหนึ่งในนั้น แม้ว่าการดื่มจะทำให้คุณรู้สึกอิ่มเอิบและเบิกบานมากขึ้นยามคุณรู้สึกแย่ ๆ ซึ่งแอลกอฮอล์นั้นเป็นตัวกดประสาท ดังนั้น หากคุณดื่มมาก ๆ เข้า นั่นอาจทำให้โรคซึมเศร้ามีผลที่ตรงกันข้ามและย่ำแย่ขึ้นไปอีกได้
- ความหลงลืม: โรคซึมเศร้า อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการที่คุณเริ่มหลง ๆ ลืม ๆ ผลการศึกษาแสดงว่า โรคซึมเศร้าหรือภาวะเครียดที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานจะเพิ่มระดับคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ส่วนหนึ่งของสมองอ่อนแอลง อันเกี่ยวโยงกับความทรงจำและการเรียนรู้ แน่นอนว่าโรคซึมเศร้ามีความเกี่ยวเนื่องกับการสูญเสียความทรงจำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือ การรักษาโรคซึมเศร้าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความจำได้
- การใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป: การเสพติดโลกออนไลน์มากกว่าโลกความเป็นจริง เป็นอาการหนึ่งของคนเป็นโรคซึมเศร้า กล่าวคือ คุณใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากจนเกินไป ผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาบนสื่อโป๊เปลือย เกม หรือสังคมออนไลน์เสียทั้งสิ้น
- กระหน่ำกินอย่างบ้าคลั่งและตามมาด้วยโรคอ้วน: ผลการศึกษาเมื่อปี 2010 จากมหาวิทยาลัยอัลบามาเผยว่า วัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แถมยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย นอกจากนี้ โรคซึมเศร้ายังเกี่ยวโยงกับการกินอาหารในจำนวนมาก โดยเฉพาะคนวัยกลางคน ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
- การขโมยของ: ประมาณสามส่วนของหัวขโมยทั้งหลาย เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สำหรับใครก็ตามที่รู้สึกไม่มีพละกำลังและรู้สึกว่าตนเองไม่สำคัญ การขโมยของจะช่วยทำให้เขารู้สึกตรงกันข้าม คือ มีพละกำลังและรู้สึกว่าตนเองสำคัญ และพวกเขาจะเฉยชากับสิ่งที่ตนเองกระทำ ซึ่งในความจริงแล้ว สิ่งของที่พวกเขาขโมยมานั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับความรู้สึกที่พวกเขารู้สึกเลย
- การปวดหลัง: อาการเจ็บหลังเรื้อรัง ส่วนหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้คนที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังเคยผ่านประสบการณ์การเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ผู้คนมักเพิกเฉยต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะพวกเขาคิดว่า การเจ็บปวดต่าง ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคซึมเศร้าแต่อย่างใด
- พฤติกรรมทางเพศ: การเป็นโรคซึมเศร้านั้นเกี่ยวข้องกับการสูญเสียความต้องการทางเพศ แต่ในบางรายก็อาจใช้เรื่องเพศเพื่อจัดการรับมือกับปัญหาโรคซึมเศร้า การเป็นโรคซึมเศร้า อาจเพิ่มพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ การนอกใจ การเสพติดการมีเพศสัมพันธ์ และพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ทั้งนี้ อาการดังกล่าวอาจเกี่ยวโยงถึงการเป็นโรคอารมณ์สองขั้วได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตส่วนตัว
- การแสดงออกทางอารมณ์ที่สุดเหวี่ยง: หลาย ๆ คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักหลุดหรือเผลอแสดงอารมณ์มากจนเกินปกติ บางครั้งก็ขี้โมโหหรือระเบิดอารมณ์ออกมา บ้างก็เศร้าเสียใจ หมดหวัง วิตกกังวล และหวาดกลัว ปัญหาสำคัญคือ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คนบางคนที่เดิมทีเป็นคนนิ่งเฉย เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกพุ่งสูง ก็อาจนำมาซึ่งโรคซึมเศร้าได้
- เสพติดการพนัน: การพนันอาจทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นและกระชุ่มกระชวย แต่หากคุณเสพติดการเล่นนั้นจนเป็นนิสัย คุณอาจเศร้าเสียใจหรือทุกข์ทรมานใจจากมันก็เป็นได้ หลายคนกล่าวว่า พวกเขารู้สึกวิตกกังวลและซึมเศร้าก่อนที่พวกเขาจะเริ่มเล่นการพนัน และเมื่อเจอความผิดหวังก็อาจทำให้ความรู้สึกย่ำแย่ลงไปอีกได้
- การสูบบุหรี่: มีปัญหากับการเลิกบุหรี่หรือไม่? การเป็นโรคซึมเศร้าจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นสองเท่าในการสูบบุหรี่ เรียกได้ว่า ยิ่งซึมเศร้ายิ่งสูบหนัก (ประมาณ 1 ซองต่อวัน หรือสูบบุหรี่ทุก ๆ 5 นาที) การเลิกบุหรี่นั้นใช้เทคนิคเดียวกันกับการรักษาโรคซึมเศร้า กล่าวคือ ใช้เทคนิคการบำบัดด้วยการรับรู้หรือใช้ยาเพื่อรักษาอาการซึมเศร้า
- ไม่ใส่ใจตนเอง: การละเลยหรือไม่ใส่ใจตนเอง เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าและการขาดความมั่นใจในตนเอง พฤติกรรมอาจเริ่มตั้งแต่การไม่แปรงฟัน หรืออาจจะไปถึงขั้นโดดสอบ และไม่ใส่ใจโรคร้ายต่าง ๆ ที่ตนเป็น เป็นต้น
2. อาการของโรคซึมเศร้าตามเพศและอายุ
อาการของโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่
อาการของโรคซึมเศร้าอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ส่วนมากผู้ป่วยมักมีอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกเศร้าหรือว่างเปล่าเป็นเวลานาน
- รู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย หรือกระวนกระวายใจอยู่บ่อย ๆ
- รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีค่า หรือรู้สึกผิด
- อ่อนเพลีย
- พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป
- มีความลำบากในการมีสมาธิ จดจำรายละเอียด หรือทำการตัดสินใจ
- ปัญหาการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากขึ้น หรือ นอนไม่หลับ
- รู้สึกหมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกเดิมที่เคยสนใจ
- มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร
- มีความคิดเรื่องความตายและการฆ่าตัวตาย
- คิด พูด และทำงานช้าลง
- สะเพร่า
- เสพสารเสพติด
อาการของโรคซึมเศร้าในผู้ชาย
แม้ว่าผู้ชายและผู้หญิงต่างมีอาการของโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน แต่ก็มีอาการเฉพาะเจาะจงบางอย่างที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ อ้างอิงจาก 2013 report in the journal JAMA Psychiatry ผู้ชายที่มีโรคซึมเศร้ามักจะพบอาการดังต่อไปนี้ได้มากกว่าผู้หญิง
- โกรธ
- ก้าวร้าว
- การเสพยาหรือการใช้แอลกอฮอล์
- พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ (risk-taking behaviour)
อาการของโรคซึมเศร้าในผู้หญิง
ผู้หญิงจะเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชายถึง 70% อ้างอิงจาก The National Institutes of Health. จากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ รวมถึง 2013 JAMA Psychiatry report กล่าวไว้ว่าผู้หญิงมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากถึงสองเท่า ผู้หญิงที่มีโรคซึมเศร้ามักจะพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้
- เครียด
- แยกตัวสันโดษ
- กระสับกระส่าย
- มีปัญหาด้านการนอนหลับ
อาการของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น
วัยรุ่นก็สามารถมีอาการของโรคซึมเศร้าได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนั้นมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะปกติของการเข้าสู่ช่วงการเป็นวัยรุ่น อาการแสดงอื่น ๆ ที่บอกถึงโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นได้แก่
- หมกมุ่นเรื่องความตาย เช่น กลอนหรือภาพวาดที่บ่งบอกถึงความตาย
- มีพฤติกรรมอาชญกรรม เช่น การขโมยของในร้าน
- มีการแยกตัวออกจากครอบครัวและเพื่อน
- อ่อนไหวต่อการวิพากย์วิจารณ์
- ผลการเรียนแย่ลงหรือขาดเรียน
- พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและการขับรถโดยประมาท
- การดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติด
- มีพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหรือแปลกประหลาดไปจากเดิม
- มีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะนิสัยหรือการแต่งตัวภายนอกอย่างสิ้นเชิง
- ทิ้งข้าวของของตัวเอง
3. อาการตามชนิดของโรคซึมเศร้า
อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Major Depression
- มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกซึมเศร้า มีความกังวลบ่อยๆ มีอารมณ์ที่หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุขและมักรู้สึกกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา
- มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ผู้ป่วยจะรู้สึกสิ้นหวังต่อการใช้ชีวิต มักมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิดหวังบ่อยๆ มักคิดว่าตัวเองไม่มีค่า มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่ความตาย และพยายามทำร้ายตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
- มีการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้และการทำงาน ผู้ป่วยจะไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจเรื่องที่จะทำให้เกิดความสนุกสนานกับชีวิต ไม่สนใจงานอดิเรก เพิกเฉยต่อกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ มีความรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลังงาน ทำงานได้ช้าและมีคุณภาพต่ำลง ไม่มีสมาธิต่อสิ่งที่ทำ การตัดสินใจแย่ลงและความจำเสื่อม
- มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ มีพฤติกรรมตื่นนอนเร็ว ในผู้ป่วยบางรายจะหลับนานเกินไป เบื่ออาหารจึงส่งผลทำให้น้ำหนักลด ในขณะที่บางคนรับประทานอาหารมากเกินไปจึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เมื่อมีอาการป่วยมักรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง แน่นท้อง และปวดเรื้อรัง ที่สำคัญผู้ป่วยยังมีความสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัวอย่างแย่ลงด้วย
อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Dysthymia
ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าต่อเนื่องเรื้อรังเป็นเวลาติดต่อกันยาวนาน อาจถึงขั้นสูญเสียหน้าที่การงาน การใช้ชีวิต รู้สึกไม่พึงพอใจในตนเอง ไม่มีความสุขตลอดเวลา มองโลกในแง่ร้าย แต่ผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่มักไม่ค่อยมีความพอใจเมื่อมีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต เสมือนหนึ่งเป็นคนขาดชีวิตชีวา ขาดวิญญาณซึ่งโรคซึมเศร้าแบบ Dysthymia นี้มีสิทธิ์เปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงได้ (Major depression)
อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Bipolar หรือ Manic-depressive illness
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะมีอาการร่าเริงเกินกว่าเหตุ หงุดหงิดง่าย นอนน้อยลงจากเดิม มักหลงผิดคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองใหญ่ มีพฤติกรรมพูดมาก ชอบคิดที่จะแข่งขัน มีความต้องการทางเพศสูง มีพลังงานมาก ตัดสินใจในแต่ละครั้งไม่ดี และมีพฤติกรรมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน
ความแตกต่างของโรคซึมเศร้า และโรคเครียด
โรคซึมเศร้ากับโรคเครียด ดูเหมือนจะมีลักษณะอาการที่ใกล้เคียงกัน จนทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถแยกตัวเองออกมาได้ว่า อาการที่เกิดขึ้นมาจากความเครียด หรือโรคซึมเศร้ากันแน่ เราสามารถมีวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 โรคได้ด้วยอาการขั้นพื้นฐานดังนี้
อาการที่มาจากความเครียด (Stress)
ความเครียดหรือโรคเครียด โดยทั่วไปจะเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เท่านั้น หากเป็นความเครียดธรรมดา สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ความเครียดจะไปสั่งผลกระตุ้นทั้งในแง่ดีและแง่ลบ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถตั้งรับกับความเครียดได้มากน้อยแค่ไหน โดยพบว่าอาการทั่วไปของความเครียดคือ
- ไม่สามารถทนต่อความรู้สึกได้
- นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับ
- กระสับกระส่าย กังวล และเหมือนจะประสาทเสีย
- รู้สึกไม่มีแรง หมดแรง
- รู้สึกว่าปัญหาที่เข้ามาในชีวิตยุ่งยากมากเกินจนรับได้
- มีปัญหาเรื่องสมาธิและความจำสั้น
อาการที่มาจากโรคซึมเศร้า (Depression)
แตกต่างจากความเครียดอย่างไร? ความแตกต่างของโรคนี้กับความเครียดคือ จะเกิดขึ้นใน "ระยะยาว" การปล่อยผ่านโดยรู้สึกว่ามันเป็นแค่ความเครียด จะไม่ช่วยทำให้อาการดีขึ้น แต่จะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากสารเคมีในสมองผิดปกติ เพราะความเศร้าจะควบคุมความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา
ความเครียดไม่ใช่มาจากโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ใดก็ตาม ก็จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ไม่นานก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่โรคซึมเศร้าแม้จะพยายามดึงใจตัวเองกลับมาอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้รู้สึกดีขึ้น โรคซึมเศร้าจะมีอาการต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจนเข้านอน ติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ จึงควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
วิธีป้องกันโรคซึมเศร้า
เมื่อสังเกตแล้วว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวกำลังตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าทั่วไป หรือแม้กระทั่งหลังผลการวินิจฉัยของแพทย์แล้วก็ตามว่าเป็นโรคซึมเศร้า คุณสามรถดูแลตัวเองหรือผู้ป่วยควบคู่ไปกับการบำบัดได้ดังนี้
- หางานอดิเรกทำ เช่น ทำอาหารหรือต่อจิกซอว์ ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกสนุกนัก แต่กิจกรรมยามว่างเหล่านี้จะช่วยสร้างสมาธิและทำให้สามารถจดจ่อได้มากขึ้น
- ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและไม่มีความสามารถ การตั้งเป้าหมายเล็กๆ จะสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้สารเอ็นโดรฟิน (endorphin) หลั่งออกมา ซึ่งทำให้รู้สึกมีความสุข อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นสมองให้มีความตื่นตัวมากขึ้นในระยะยาว ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ แค่เดินออกกำลังสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะรู้สึกเบื่ออาหาร ผู้ป่วยควรพยายามรับประทานอาหารที่สด สะอาด และทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ ร่างกายจึงจะรู้สึกสดชื่นและมีพลังงาน
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ แม้การนอนจะเป็นเรื่องที่ควบคุมยากมากในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่การพักผ่อนให้เพียงพอ (6-8 ชั่วโมง) จะช่วยให้ลืมความกังวลไปได้ชั่วขณะ และเมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายและสมองก็จะมีความพร้อมสำหรับกิจกรรมของแต่ละวันมากขึ้น
องค์การอนามัยโลกวิเคราะห์ว่าในปี 2563 โรคซึมเศร้า จะทำให้เกิดการสูญเสียด้านสุขภาพแก่คนทั่วโลกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนการศึกษาในไทยปี 2552 พบว่าโรคซึมเศร้าก่อให้เกิดความสูญเสียจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพสูงที่สุดในเพศหญิงถึงร้อยละ 12.4 ซึ่งสูงกว่าโรคทางกายทุกโรคมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนอีกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ในการศึกษาผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จพบว่า ร้อยละ 90 มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะกระทำการและส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั่นเอง